ชิปปิ้ง มีการคาดการณ์ว่าในอีก 15 ปีข้างหน้า จะมีปัจจัยหลายอย่าง ที่ส่งผลกระทบต่อการเปลี่ยนแปลงของอุตสาหกรรมขนส่ง
อาทิ การเติบโตของธุรกิจที่รวมกันระหว่างออนไลน์กับออฟไลน์ เทคโนโลยีการสื่อสารโดยการใช้งานผ่านทางสมาร์ทโฟน การใช้งานหุ่นยนต์และปัญญาประดิษฐ์ หรือที่เรียกว่า AI รวมไปถึงการขยายตัวของเมืองและการเติบโตภายในประเทศที่กำลังพัฒนา โดยเฉพาะในภูมิภาคอาเซียน
นอกจากนี้ Next Logistics พบว่าด้วยการรวมตัวของประเทศที่มีอำนาจทางเศรษฐกิจอย่างจีน อินเดีย อินโดนีเซีย ญี่ปุ่น และเกาหลีใต้ กำลังจะแซงหน้ายุโรปและสหรัฐฯ ชนชั้นกลางของประเทศเอเชียเหล่านี้ รวมไปถึงชาติอาเซียน ต่างเป็นกำลังขับเคลื่อนให้มีการเติบโตของเศรษฐกิจและเกิดการบริโภคสินค้าจากทั่วโลกในปริมาณมหาศาล ซึ่งปัจจัยเหล่านี้ ล้วนส่งผลให้อุตสาหกรรมโลจิสติกส์ หรือแม้กระทั่งวงการชิปปิ้งเปลี่ยนไป ดังต่อไปนี้
- มุ่งเน้นบริการส่งพัสดุ เป็นผลต่อเนื่องอันเกิดจากบรรดาแพลตฟอร์ม (Platform) ซื้อขายสินค้าออนไลน์ทั้งหลาย ทางบริษัทวิจัยตลาด E-Marketer ได้ประเมินไว้ว่าในภาคเอเชียแปซิฟิกจะมียอดเพิ่มขึ้นอีกเท่าตัว และกลายเป็นตลาด E-Commerce ที่ใหญ่ที่สุดในโลก ขณะเดียวกันปี 2016 ที่ผ่านมา ทาง Alibaba ได้ส่งพัสดุวันละ 80 ล้านชิ้น ซึ่งคาดว่าในปี 2026 จะเพิ่มเป็น 1,000 ล้านชิ้นต่อวัน ปรากฏการณ์เช่นนี้จะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงครั้งยิ่งใหญ่ในอุตสาหกรรมโลจิสติกส์ ทำให้สามารถส่งสินค้าภายใน 24 ชั่วโมง สำหรับลูกค้าในประเทศ และภายใน 72 ขั่วโมง สำหรับลูกค้าต่างประเทศ
- ระบบการจัดส่งอัตโนมัติ จีนได้มีการจัดส่งพัสดุทั่วประเทศรวม 30,000 ล้านชิ้น และติดตั้งระบบอัตโนมัติหรือนำเอาหุ่นยนต์มาใช้งาน อาทิ The Shentong Express (STO) เป็นศูนย์คัดแยกพัสดุที่ใหญ่ที่สุดในเทียนจินของจีน หุ่นยนต์ได้ทำหน้าที่แยกพัสดุวันละประมาณ 200,000 ชิ้นไปยังพื้นที่ในศูนย์ที่กว้างขวาง 21,000 ตารางฟุต โดยประเมินจากปลายทางที่จัดส่ง ซึ่งมีไม่ต่ำกว่า 300,000 ล้านเส้นทาง หากย้อนกลับไปเมื่อก่อน การทำงานแบบนี้ต้องใช้กำลังคนอย่างน้อย 100 คนขึ้นไป แต่เมื่อมีการใช้หุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติ ทำให้ช่วยลดต้นทุนลงได้ครึ่งหนึ่ง เมื่อเปรียบเทียบกับการใช้แรงงานคน
- ที่ทำการไปรษณีย์ในอนาคต ปัจจุบันไปรษณีย์มุ่งเน้นหารายได้จากผู้ส่ง และเป็นการกำหนดอัตราค่าขนส่งแบบตายตัว ซึ่งต่อไปจะเพิ่มความยืดหยุ่นมากขึ้น และคาดว่าจะมีการปรับปรุงธุรกิจในรูปแบบต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นการขายแฟรนไชส์ การจับมือเป็นพันธมิตรกันระหว่างธุรกิจอื่น โดยแอบแฝงตามสถานที่ต่างๆ เช่น เคาน์เตอร์บริการตัวเองตามจุดบริการต่างๆ และมีระบบในการติดตามพัสดุที่ครอบคลุมมากยิ่งขึ้น
- ที่ทำการไปรษณีย์แบบบริการตัวเอง เพื่อช่วยให้การค้าปลีกรูปแบบใหม่เป็นไปอย่างราบรื่น ฝั่งอุตสาหกรรมโลจิสติกส์จึงต้องปรับตัวให้เข้ากับยุคดิจิทัลเช่นกัน โดยหากย้อนกลับไปเมื่อต้นปี 2017 ไปรษณีย์ในเมืองโตรอนโต และเมืองเอ็ดมอนตันของแคนนาดา ได้เปิดบริการในเวอร์ชั่นที่ล้ำสมัย โดยมีเคาน์เตอร์ พร้อมอุปกรณ์สำหรับให้ลูกค้าบริการด้วยตัวเอง เช่น คำนวณราคาเอง ชั่งน้ำหนักพัสดุ รวมไปถึงการพิมพ์แสตมป์ในราคาที่ต้องการได้เอง ขณะที่ไปรษณีย์ของสิงคโปร์นั้น ได้มีการเปิดตัว Smart Post Office มีเคาน์เตอร์บริการตัวเอง ที่ช่วยให้ลูกค้าสามารถเข้ามาใช้บริการได้ทุกที่ทุกเวลา
- เทคโนโลยีติดตามพัสดุแบบอัตโนมัติ ปัจจุบันได้มีการพัฒนาระบบติดตามพัสดุแบบอัตโนมัติในรูปแบบไมโครชิปที่จะติดไปกับพัสดุ ระบบนี้ถูกพัฒนาโดยบริษัท ParcelLive ช่วยให้พัสดุแจ้งตำแหน่งและสถานะแบบเรียลไทม์ได้ในทุกประเทศปลายทาง บวกกับมีการแจ้งเตือนหากเกิดกรณีไม่ปกติกับพัสดุ เช่น พัสดุถูกเปิดออก พัสดุตกหล่น หรืออยู่ในที่ที่มีอุณหภูมิสูงเกินไป ข้อมูลทั้งหมดนี้จะถูกรายงานไปยังผู้ส่งพัสดุทันที
- ยานยนต์ไร้คนขับ ในทศวรรษภายหน้า นวัตกรรยานยนต์ไร้คนขับจะกลายเป็นของจริง ทางอุตสาหกรรมโลจิสติกส์ควรให้ความสนใจกับสิ่งนี้ เช่น USUP ไปรษณีย์ของอเมริกากำลังร่วมมือกับมหาวิทยาลัยมิชิแกน เพื่อพัฒนารถการขนจดหมายและพัสดุแบบไร้คนขับ USUP ได้วางแผนเอาไว้ราวปี 2025 โดยจะผลิตรถขนาดเล็กเพื่อทดลองใช้งานในเส้นทางชนบททั่วประเทศ ภาพที่จะปรากฏแก่สายตาของผู้พบเจอจะมีบุรุษไปรษณีย์อยู่ภายในรถ คอยทำหน้าที่คัดแยกไปรษณีย์ หรือทำงานอื่นๆ ในระหว่างกำลังเดินทาง
- เทคโนโลยีสมาร์ทโฟน ในอนาคตอุตสาหกรรมโลจิสติกส์หรือชิปปิ้งจะเกี่ยวข้องกับเทคโนโลยีและนวัตกรรมมือถือ บริษัททั้งหลายได้พัฒนาแอปพลิเคชั่นที่ช่วยอำนวยความสะดวกให้กับลูกค้า ช่วยให้สืบค้นข้อมูล เช่น อัตราค่าบริการ จุดรับพัสดุ รหัสไปรษณีย์ ข้อมูลเกี่ยวกับสินค้าที่ทางลูกค้าสามารถสั่งซื้อผ่านแอปพลิเคชั่นได้ ติดตามสถานะพัสดุ สั่งสินค้า หรือกระทั่งเล่นเกม ด้วยการพัฒนาเทคโนโลยีเกี่ยวกับสมาร์ทโฟนและอุปกรณ์ติดตามตัว กลายเป็นอาวุธและกลยุทธ์หลักของหลายบริษัทที่เอามาใช้แข่งขันกัน
ด้วยเทรนด์ E-Commerce เหล่านี้กลายเป็นจุดเปลี่ยนแปลงของวงการโลจิสติกส์หรือชิปปิ้ง ที่ต้องปรับตัวเพื่อให้เข้ากับนวัตกรรมที่เกิดขึ้น เพื่ออำนวยความสะดวกให้กับลูกค้าและเปิดโอกาสให้ลูกค้าได้ใช้บริการที่มีความหลากหลายมากยิ่งขึ้น
อ้างอิงข้อมูล http://leapfrogbusinessconsulting.com/