ชิปปิ้ง หรือการนำเข้าสินค้าจากต่างประเทศ ไม่ว่าจะเป็นการนำเข้าเพื่อใช้เองส่วนตัวหรือเป็นการนำเข้าเพื่อจำหน่ายต่อ ผู้นำเข้าต้องชำระค่าภาษีอากร และปฏิบัติตามข้อห้าม ข้อกำกัด และระเบียบการนำเข้าที่กฎหมายกำหนดไว้อย่างเคร่งครัด
อย่างไรก็ตาม มีคำถามมากมายจากผู้นำเข้ามือใหม่ ที่ไม่แน่ใจว่า จริงๆ ในการนำเข้าแต่ละครั้ง มีภาษีอะไรบ้างที่ต้องชำระให้ถูกต้องตามกฎหมาย คำตอบก็คือ มีภาษีทั้งหมด 4 ประเภท ที่ถือเป็นหน้าที่ที่ผู้นำเข้าต้องชำระ ได้แก่
1. ภาษีอากรขาเข้า
อากร หมายถึง เงินรายได้ของประเทศที่กฎหมายกำหนดให้กรมศุลกากรเป็นหน่วยงานจัดเก็บจากการนำของเข้ามาหรือส่งของออกไป ของที่นำเข้ามาหรือส่งออกนอกราชอาณาจักร สำหรับอากรขาเข้า จะจัดเก็บก็ต่อเมื่อมีการของเข้ามาในไทยเกินกว่าที่กฎหมายกำหนด เช่น
- หากเป็นการถือเข้ามาเป็นของติดตัวขณะเดินทางเข้าประเทศ ของนั้นต้องมีมูลค่าเกินกว่า 20,000 บาท
- กรณีที่เป็นการนำเข้ากับบริษัทชิปปิ้ง ของนั้นต้องมีมูลค่ารวมค่าขนส่งและค่าประกันภัยเกิน 1,500 บาท ถึงจะเสียค่าภาษีอากรนำเข้า แต่หากต่ำกว่า 1,500 บาท จะได้รับการยกเว้นไม่ต้องจ่ายภาษีอากรนำเข้า
สำหรับค่าอากรที่ชำระไว้เกินสามารถขอคืนเงินได้ในระยะเวลาที่กฎหมายกำหนด แต่หากชำระอากรไว้ขาด กรมศุลกากรมีสิทธิ์เรียกเก็บอากรที่ขาดได้ตามกำหนดเวลา อย่างไรก็ตาม ผู้นำเข้าควรเก็บเอกสารที่ออกโดยกรมศุลกากรไว้เป็นหลักฐานแสดงการนำเข้าและการชำระภาษีอย่างถูกต้องอย่างน้อย 5 ปี นับแต่วันนำของเข้าหรือส่งของออก หากเลิกกิจการต้องเก็บไว้อีก 2 ปี นับแต่วันเลิกกิจการ หากไม่ปฏิบัติตามกฎหมายจะมีบทลงโทษ ทั้งทางแพ่งและทางอาญา
2. ภาษีสรรพสามิต
ภาษีสรรพสามิต คือ ภาษีที่เรียกเก็บจากสินค้าบางประเภท เช่น สินค้าที่บริโภคแล้วอาจก่อให้เกิดผลเสียต่อสุขภาพและศีลธรรม สินค้าฟุ่มเฟือย หรือสินค้าที่ได้รับผลประโยชน์เป็นพิเศษจากรัฐ หรือเป็นสินค้าที่ก่อให้เกิดมลภาวะต่อสิ่งแวดล้อม ได้แก่ เครื่องดื่ม, เครื่องไฟฟ้า (เฉพาะเครื่องปรับอากาศและโคมระย้าที่ทำจากแก้วเลดคริสตัลและแก้วคริสตัลอี่นๆ ) , น้ำมัน, รถยนต์, เรือยอชต์และยานพาหนะทางน้ำที่ใช้เพื่อความสำราญ, น้ำหอม, พรมและสิ่งทอปูพื้นอื่น (เฉพาะที่ทำด้วยขนสัตว์), สถานบริการ (สนามแข่งม้า สนามกอล์ฟ), รถจักรยานยนต์, แบตเตอรี่, สุรา, ยาสูบและไพ่ โดยกรมสรรพสามิต เป็นหน่วยงานที่เป็นผู้จัดเก็บภาษีดังกล่าว
3. ภาษีเพื่อมหาดไทย
ภาษีเพื่อมหาดไทย จะต้องมีการชำระก็ต่อเมื่อต้องเสียภาษีสรรพาสามิต ซึ่งสินค้าที่ต้องชำระภาษีสรรพสามิตและภาษีเพื่อมหาดไทย เช่น น้ำหอม สุรา ยาสูบ ไพ่ แบตเตอรี่ เป็นต้น
4. ภาษีมูลค่าเพิ่ม หรือ VAT
เป็นภาษีที่เรียกเก็บจากมูลค่าส่วนที่เพิ่มขึ้นในแต่ละขั้นตอนของการผลิตสินค้าหรือบริการ และการจำหน่ายสินค้าหรือบริการชนิดต่างๆ ปัจจุบันเรียกเก็บที่ 7% จากเดิม 10% ใช้หลักการจัดเก็บแบบเดียวกันกับอากรขาเข้า คือ จัดเก็บต่อเมื่อได้มีการนำของเข้ามาในราชอาณาจักรเกินกว่าที่กฎหมายกำหนด เช่น
- หากเป็นการถือเข้ามาเป็นของติดตัวขณะเดินทางเข้าประเทศ ของนั้นต้องมีมูลค่าเกินกว่า 20,000 บาท
- กรณีที่เป็นการนำเข้ากับบริษัทชิปปิ้งหรือส่งผ่านไปรษณีย์ระหว่างประเทศ ของตั้นต้องมีมูลค่ารวมค่าขนส่งและค่าประกันภัยเกิน 1,500 บาท
ข้อมูล : กรมศุลกากร