นำเข้าสินค้าจากจีน โดยเฉพาะสินค้าประเภทเครื่องใช้ไฟฟ้า เช่น หม้อทอดไร้น้ำมัน หม้อต้มสุกี้ กระทะปิ้งย่าง เตาอบ ที่กำลังได้รับความนิยม ต้องขอเครื่องหมาย มอก. ก่อนนำเข้าเพื่อมาจำหน่ายต่อ มิฉะนั้น อาจเสี่ยงถูกจับ
ปัจจุบัน สินค้า มอก.ภาคบังคับมีทั้งหมด 115 รายการ ซึ่งตามกฎหมายแล้ว ผู้นำเข้าสินค้าจากจีนต้องทำเรื่องขออนุญาตจาก สมอ.หรือสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมก่อนนำเข้าทุกครั้ง เนื่องจากเป็นสินค้าที่เกี่ยวข้องกับความปลอดภัยต่อชีวิตและทรัพย์สิน หากหลบเลี่ยงและถูกจับได้ ต้องโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี และปรับไม่เกิน 2 ล้านบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
ทำไมสินค้าบางประเภทต้องมี มอก.
สินค้าที่แสดงเครื่องหมาย มอก. หมายความว่า เป็นสินค้าที่ได้รับการรับรองมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมโดย สมอ. ซึ่งเป็นหน่วยงานที่ทำหน้าที่ในการตรวจสอบคุณภาพของสินค้าจากมาตรฐานต่างๆ ที่ถูกกำหนดวิธีการทดสอบเอาไว้ โดยส่วนใหญ่จะใช้เครื่องมือทางวิทยาศาสตร์ในห้องปฏิบัติการ (ห้องแลป) เพื่อทำการทดสอบผลิตภัณฑ์ก่อนจะทำการรับรองผ่าน มอก. อันเป็นข้อกำหนด เพื่อให้ผู้ประกอบการนำไปใช้เป็นแนวทางในการผลิตสินค้าให้มีคุณภาพ เป็นไปตามมาตรฐาน และปลอดภัยต่อการใช้งานของผู้บริโภค
เครื่องหมาย มอก. หลักๆ มี 2 ประเภท
เครื่องหมายมาตรฐาน มอก. ประกอบด้วย 2 ประเภทหลัง คือ มอก. ทั่วไป หรือเครื่องหมายมาตรฐานทั่วไป สำหรับสินค้าทั่วไป รวมทั้งสินค้าอุปโภคบริโภค โดยเครื่องหมายนี้ ผู้ประกอบการสามารถยื่นขอรับรองคุณภาพสินค้าของตนเองได้ด้วยความสมัครใจ เพื่อพัฒนาสินค้าให้เป็นไปตามมาตรฐาน โดยสินค้ากลุ่มนี้สามารถนำเข้าจากต่างประเทศได้โดยยังไม่มีการตรวจสอบคุณภาพ หรือไม่มี มอก. นั่นเอง อาทิ กระเบื้องซีเมนต์เส้นใยแผ่นลอน ปูนยิปซัมผสม แผ่นหลังคาเมทัลชีต ฯลฯ
ประเภทที่ 2 คือ เครื่องหมายมาตรฐานบังคับ สำหรับสินค้าที่เกี่ยวข้องกับความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน อาทิ เครื่องใช้ไฟฟ้า วัสดุก่อสร้าง ยางรถยนต์ ของเล่น หมวกกันน็อก ฯลฯ เป็นต้น ทั้งนี้ ผู้ประกอบการที่นำเข้าสินค้าเหล่านี้ จะต้องขออนุญาตจาก สมอ. ก่อน เพื่อรับรองคุณภาพสินค้าว่าเป็นไปตามมาตรฐาน และเพื่อความปลอดภัยของผู้บริโภคในกรณีที่ต้องการนำไปจำหน่ายต่อ
ขั้นตอนการขอเครื่องหมาย มอก.
ในกรณีนำเข้าสินค้าจากจีน สำหรับสินค้าที่ต้องแสดงเครื่องหมาย มอก. ภาคบังคับนั้น โดยคร่าวๆ แล้ว ผู้นำเข้าต้องยื่นขอใบอนุญาตจากสมอ. ก่อน จากนั้นจึงส่งตัวอย่างผลิตภัณฑ์ให้ทาง สมอ. ตรวจสอบ ซึ่งหมายถึงต้องขออนุญาตนำเข้าผลิตภัณฑ์ตัวอย่างเพื่อส่งทดสอบก่อนนำเข้าจริง จากนั้นต้องมีการนำเจ้าหน้าที่ สมอ. ไปตรวจสอบที่โรงงานผลิต อย่างไรก็ตาม หากโรงงานที่คุณสั่งผลิตหรือนำเข้ามานั้น เคยได้รับการตรวจ มอก. จากผู้ประกอบการรายอื่นมาแล้ว ก็จำเป็นต้องนำเจ้าหน้าที่ไปตรวจสอบอีกครั้งอยู่ดี เนื่องจากการขอ มอก.นั้น ขึ้นอยู่กับเจ้าไหนเจ้านั้น ไม่สามารถใช้รายงานผลทดสอบของคนอื่นทดแทนกันได้
ขายออนไลน์ ไม่แสดง มอก. ระวังถูกจับ !
เมื่อได้รับเครื่องหมาย มอก. เป็นที่เรียบร้อย ก็สามารถดำเนินพิธีการนำเข้าได้แบบถูกต้องตามกฎหมายต่อไป ทั้งนี้ เมื่อนำมาจำหน่ายต่อผ่านช่องทางออนไลน์นั้น จำเป็นต้องแสดงเครื่องหมาย มอก. บนผลิตภัณฑ์ และบรรจุภัณฑ์ของสินค้าให้ชัดเจนบนแพลตฟอร์ม ดังตัวอย่างนี้
ทั้งนี้ เพื่อให้ผู้บริโภคมองเห็นได้ชัดเจนว่าสินค้านั้นๆ ผ่านการตรวจสอบคุณภาพสินค้าที่ได้มาตรฐาน มอก. มาอย่างถูกต้อง ไม่ว่าจะเป็นเครื่องหมายมาตรฐานทั่วไป หรือเครื่องหมายมาตรฐานบังคับ โดยสามารถตรวจสอบเลขที่ มอก. ที่แสดงอยู่ใต้เครื่องหมาย มอก. ว่าตรงกับชื่อผลิตภัณฑ์หรือไม่ นอกจากนี้ ยังสามารถเช็คชื่อผลิตภัณฑ์ที่ถูกต้องได้จากเว็บไซต์ สมอ.ได้เช่นเดียวกัน
ถึงแม้ว่า การยื่นขอเครื่องหมาย มอก. จะเป็นขั้นตอนที่ยุ่งยาก และใช้เวลาพอสมควร แต่อย่าลืมว่า การทำให้ถูกต้องในทุกๆ ขั้นตอนของการนำเข้านั้น ย่อมปลอดภัยและลดความเสี่ยงต่อการทำธุรกิจได้มากกว่า ที่สำคัญ ช่วยให้ผู้ประกอบการและผู้บริโภครู้สึกมั่นใจในตัวสินค้า สามารถนำไปจำหน่ายต่อได้อย่างสบายใจหายห่วง ไม่ต้องกลัวถูกจับและริบของ